ดินและปุ๋ย
ประกิต เพ็งวิชัย

ทางเลือกของหมอดินเมืองรถม้า วิชัย โชติญาณนนท์
ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปรับปรุงดิน เพิ่มผลผลิตปลูกสบู่ดำ


          จากภาวะวิกฤติปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลกระทบในการเพิ่มต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อยที่มีทุนน้อย ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้มีการดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลทดแทนน้ำมันดีเซล

          "สบู่ดำ" จัดเป็นพืชที่เหมาะสมในการปลูกเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันดีเซล เพราะสามารถปลูกได้ดีในเขตร้อนชื้น และแดดจัด ให้ผลผลิตภายใน 1 ปี น้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำมีคุณสมบัติเชิงเชื้อเพลิงที่ดี คือค่าซีเทนสูง จุดวาบไฟสูง กำมะถันต่ำ อุณหภูมิแข็งตัวต่ำ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการสกัดน้ำมันและสามารถใช้ได้ดีกับเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก เครื่องปั่นไฟที่ให้แสงสว่าง เตาหุงต้ม เป็นต้น

          ชาวบ้านในชนบทปลูกสบู่ดำไว้ตามหัวไร่ปลายนา หรือปลูกเป็นรั้วเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงไม่ให้เข้าไปทำลายพืชผลในแปลง เนื่องจากในลำต้น ใบ และเมล็ด มีสารไฮโดรไซยานิก (hydrocyanic) ซึ่งมีกลิ่นเหม็นเขียว สัตว์เลี้ยงไม่ชอบกัดกิน

          ภูมิปัญญาชาวบ้านนำสบู่ดำมาตำให้ละเอียดใช้จุดให้แสงสว่างแทนเทียนไขเป็นอย่างดี หรือการนำเอากากของเมล็ดที่สกัดน้ำมันออกแล้วมาใส่ในกระบอกไม้ไผ่ หรือกะเทาะเปลือกเมล็ดออกเหลือแต่เนื้อในสีขาว ใช้ไม้เล็กๆ เสียบเมล็ดสีขาวติดต่อกันยาวประมาณ 1 คืบ แล้วจุดไฟแทนเทียนไขได้ดีเช่นกัน น้ำมันสบู่ดำจะมีลักษณะใสอุณหภูมิต่ำ ซึ่งจะทำให้สามารถใช้น้ำมันได้ในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น และมีค่าไอโอดีนสูง มีคุณสมบัติเป็น semi drying oil คือมีคุณสมบัติแห้งเร็ว จึงมีการนำไปใช้เป็นน้ำมันทาสีน้ำมันขัดเงาได้ ซึ่งประเทศจีนกำลังให้ความสนใจการวิจัยและพัฒนาทางด้านนี้ ส่วนอินเดียให้ความสนใจในการนำน้ำมันสบู่ดำมาทดแทนน้ำมันดีเซล เช่นเดียวกับประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศในทวีปแอฟริกา

          ปัจจุบัน สบู่ดำ กำลังเป็นพืชน้ำมันอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสามารถนำเมล็ดไปสกัดน้ำมันและนำไปใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำได้ทันที โดยไม่ต้องผสมน้ำมันชนิดอื่นอีก แต่การปลูกสบู่ดำเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทนน้ำมันดีเซลควรจะต้องพิจารณาในด้านต่างๆ ดังนี้

          ด้านการตลาด ในปัจจุบันยังไม่มีตลาดที่แน่นอนในการรับซื้อผลผลิตของสบู่ดำ เช่น เมล็ดที่จะนำไปหีบน้ำมันหรือกากที่เหลือจากการหีบน้ำมัน ราคาผลผลิตของสบู่ดำที่จะนำไปขาย ราคาประมาณ 4-5 บาท ต่อกิโลกรัม ถือว่ายังไม่คุ้มกับการผลิตสบู่ดำในปัจจุบัน

          ด้านความเป็นพิษ ในทุกส่วนของสบู่ดำมีสารพิษที่เป็นอันตราย ลำต้น ใบ และผล มีสารไฮโดรไซยานิก (hydrocyanic) เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ชัก หอบ หายใจขัด และอาจตายได้ ในเมล็ดมีสารที่เรียกว่า เคอร์ซิน (curcin) มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน และเกิดอาการระคายเคืองอย่างรุนแรงในกระเพาะอาหาร ในน้ำมันมีสารฟอร์บอล เอสเทอร์ (phorbol ester) ซึ่งมีฤทธิ์ในการกระตุ้นให้เซลล์ที่มียีนผิดปกติแบ่งตัวและอาจพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้น การใช้สบู่ดำจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ

          ด้านพันธุ์ ในขณะนี้ยังไม่มีพันธุ์รับรองจากทางราชการว่า ให้ผลผลิตและมีน้ำมันสูง มีแต่พันธุ์ท้องถิ่นที่เรียกชื่อตามแหล่งปลูก เช่น พันธุ์สตูล พันธุ์น่าน พันธุ์บุรีรัมย์ และพันธุ์มุกดาหาร ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่ำ ยังไม่คุ้มกับการลงทุน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรกำลังปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ให้ผลผลิตและมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง

          ด้านเทคโนโลยีการผลิต เทคโนโลยีทางด้านการจัดการ การผลิตส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัย เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการเพิ่มผลผลิตสบู่ดำ

          ด้านการนำน้ำมันไปใช้ประโยชน์ น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดสบู่ดำสามารถนำไปใช้ได้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่มีรอบต่ำเท่านั้น เช่น รถไถนา เครื่องสูบน้ำ เครื่องเกี่ยวข้าว เครื่องนวด รถไถเดินตาม และเครื่องปั่นไฟ เป็นต้น แต่ไม่สามารถนำไปใช้ในเครื่องยนต์ดีเซลที่มีรอบสูง เช่น รถที่ใช้น้ำมันดีเซล การที่จะนำน้ำมันสบู่ดำไปใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่มีรอบสูง จะต้องผ่านกระบวนการแยกกรีเซอรีนออกจากน้ำมันสบู่ดำ จะได้เอสเทอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล สามารถนำไปใช้ได้ทันที

          ด้านต้นทุนการผลิต ต้องมีการศึกษาที่ชัดเจนด้านต้นทุนการผลิตและราคาคุ้มทุนในการปลูกสบู่ดำ

          ศัตรู พบว่ามี ไ รขาว มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 0.2 มิลลิเมตร ต้องใช้แว่นขยายจึงจะสามารถมองเห็น แต่ก็เห็นเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่เคลื่อนที่ไปมาบนใบเท่านั้น

          ไรขาว เข้าทำลายสบู่ดำโดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใต้ใบ โดยเฉพาะใบอ่อนหรือยอดที่แตกใหม่ ทำให้ใบเล็กกว่าปกติ ยอดอ่อนแตกเป็นฝอย ใบแห้งกร้าน แข็ง หนา และเปราะ ใบมีลักษณะเป็นคลื่น สบู่ดำจะแสดงอาการใบหงิก ขอบใบม้วนลงด้านล่าง เส้นใบนูน มีผลทำให้สบู่ดำชะงักการเจริญเติบโต ก้านช่อผลสั้น ติดผลน้อยหรือไม่ติดผล

          คุณวิชัย โชติญาณนนท์ หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านแม่เฮียว จังหวัดลำปาง กล่าวว่า ต้นสบู่ดำ เป็นพืชที่ขยายพันธุ์ง่าย หากได้รับน้ำพอเพียงก็จะติดดอก ออกผลตลอดทั้งปี โดยตัดกิ่งต้นสบู่ดำที่เริ่มแก่ออกเป็นท่อนๆ ให้ปลายกิ่งเป็นรูปปากฉลาม ความยาวท่อนละ 60-70 เซนติเมตร นำไปปักลงในแปลงปลูกได้ทันที โดยใช้ระยะปลูก 2.5x3 เมตร และปล่อยให้ได้รับน้ำฝนตามธรรมชาติ

          ส่วนการขยายพันธุ์โดยเก็บเมล็ดไปเพาะนั้น เหมาะแก่การผลิตเป็นต้นกล้าพันธุ์จำหน่าย โดยนำเมล็ดจากผลที่แก่จนเหลือง หรือแห้งไปเพาะ ให้น้ำวันเว้นวัน ประมาณ 1 เดือน เมล็ดจะพัฒนาเป็นต้น จำหน่ายได้ในราคาต้นละ 4-7 บาท หลังจากลงปลูกต้นสบู่ดำได้ 5-6 เดือน ต้นก็เริ่มติดดอกออกผล รอจนผลแก่หรือแห้งก็เก็บเมล็ดไปสกัดเป็นน้ำมันได้

          อย่างไรก็ตาม การปลูกสบู่ดำมีข้อจำกัดคือ ผลผลิตค่อนข้างต่ำ ยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งคุณวิชัย หมอดินอาสากล่าวว่า ตัวเองปลูกสบู่ดำตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง ได้นำวิธีการปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยหมัก จนสามารถทำให้ผลผลิตสบู่ดำได้ปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ ในแปลงสบู่ดำนี้ก็ใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ทำจากสูตรของกรมพัฒนาที่ดิน พด.1, 2, 3 ปรับปรุงบำรุงดินและต้นสบู่ดำ

          สารเร่ง พด.1 นำมาทำปุ๋ยหมักบำรุงดิน นอกจากนี้ การปลูกสบู่ดำมักจะพบปัญหาจากการรบกวนของศัตรูพืช และต้องระวังการระบาดของไรขาวที่พบระบาดมากในช่วงที่ฝนตกชุก คุณวิชัย หมอดินอาสาได้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ สูตร พด. 2 พด. 3 ฉีดพ่นป้องกันโรคและแมลงดังกล่าว

          คุณวิชัย บอกว่า หลังจากที่เราปลูกครั้งแรกเราประสบปัญหา ช่วงนั้นอาจจะหลายประเด็น เช่นว่า เรายังไม่ทราบเนื้อดินที่ถูกต้อง ไม่ได้ตรวจวิเคราะห์ ก็ลองเอาปุ๋ยมาใส่ดูก่อน ปรากฏว่าพอครบปี ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เห็นทันตาเลยแสดงว่าปุ๋ยอินทรีย์ช่วยได้มาก ถ้าเราเปรียบเทียบกับอีกแปลง ที่เราใช้สูตร 15-15-15 ข้อแตกต่างการตอบสนองของปุ๋ยเคมีก็ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ที่แน่นอนสำหรับแปลงสบู่ดำนี้ โดยการใช้ปุ๋ยหมักเป็นพื้นฐานตั้งแต่ทีแรก ในการปลูกทำการวิจัยทดลอง ผมมีความเชื่อมั่นเลยว่าดี หนึ่งคือลดต้นทุน และเราสามารถทำเองได้

          "ถ้าเรามีการตัดแต่งกิ่ง ให้น้ำสม่ำเสมอ ปรับปรุงบำรุงดินและป้องกันกำจัดศัตรูสบู่ดำ สิ่งแวดล้อมก็ดี ผลข้างเคียงอะไรก็ดี และผลผลิตเปรียบเทียบได้เลยว่าผลผลิตของเราสูง ก็จะให้ผลผลิตปีแรก ประมาณ 500 กิโลกรัม ต่อไร่ และในอนาคตกากของสบู่ดำเราก็จะเอามาทำเป็นปุ๋ย เพราะว่ากากนี่...มีไนโตรเจนสูง มันก็เป็นการครบวงจรพอดี สบู่ดำก็จะเป็นพืชอีกตัวหนึ่งที่น่าจะผลักดันให้หมอดินทำปุ๋ยหมัก เพราะตอนนี้กระแสการปลูกสบู่ดำเพื่อทำเป็นพลังงานทดแทนน้ำมันดีเซลมาก คงไม่ใช่แค่สบู่ดำหรอกครับ หากเพิ่มการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ก็สามารถเพิ่มผลผลิตได้ครับ" คุณวิชัย หมอดินอาสา กล่าว

          สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณวิชัย โชติญาณนนท์ หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านแม่เฮียว 131 หมู่ 7 ตำบลวังเหนือ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง โทรศัพท์ (09) 869-3028 หรือสถานีพัฒนาที่ดินลำปาง ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง 52190 โทร. (054) 269-569

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชน